Thank you " Taste and Trip" 💛
เรื่องเล่าจากนิทรรศการ “มหัศจรรย์พันลึก”
โดย พี่ป๊อด ธนชัย อุชชิน
ปีนี้เรียกได้ว่าเป็นปีคืนกำไรให้กับแฟนๆ ของพี่ป๊อด Moderndog (Thanachai Ujjin)อย่างแท้จริง เริ่มจากเมื่อเดือนมีนาคม เขาและเพื่อนๆ ได้สร้างเซอร์ไพรซ์ด้วยการจัดคอนเสิร์ตฉลองครบรอบ 22 ปีของ Moderndog สุดยอดวงดนตรีระดับท็อปของประเทศไทย จากนั้นเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมนี้เอง เขาก็ได้สร้างเซอร์ไพรซ์ที่สองด้วยการเปิดตัวนิทรรศการศิลปะโซโล่ของเขาในชื่อ POD ART หลังจากที่ห่างหายไปนานกว่า 20 ปี จากนิทรรศการศิลปะโซโล่ครั้งแรก และใครจะไปรู้ว่าภายในเดือนเดียวกันนี้ เขาจะทำแฮตทริกสร้างเซอร์ไพรซ์ครั้งที่ 3 ในรอบปี กับบทบาทการเป็นภัณฑารักษ์ครั้งแรกในชีวิตให้กับนิทรรศการ “มหัศจรรย์พันลึก” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการหมุนเวียนชุด ไทยทำ ทำทำไม ณ มิวเซียมสยาม ระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม – 27 สิงหาคม 2560
นิทรรศการหมุนเวียนชุดนี้ได้เชื้อเชิญให้คุณๆ ได้มาซึมซับและสัมผัสความเป็นช่างประดิษฐ์ของคนไทย ที่มีการพัฒนา สั่งสมองค์ความรู้จนเกิดเป็นภูมิปัญญาแบบไทยๆ ที่ไม่เหมือนชาติใดในโลก ผ่านมุมมองของภัณฑารักษ์ 3 คน ซึ่งในส่วนของนิทรรศการ “มหัศจรรย์พันลึก” TASTE AND TRIP ก็ได้รับเกียรติจากพี่ป๊อดอีกครั้งในการให้สัมภาษณ์แบบเอ็กคลูซีฟเพื่อส่งสาส์นจากใจพี่ป๊อดทั้งหมดไปสู่แฟนๆ ทุกคน
แนวความคิดของนิทรรศการ “มหัศจรรย์พันลึก”
พี่ป๊อดได้เล่าถึงที่มาของนิทรรศการในครั้งนี้ว่า “คนไทยเรามีวิธีการจัดการกับสิ่งต่างๆ รอบตัวโดยการประดิษฐ์ นับตั้งแต่อดีต คนไทยก็พยายามหาวิธีแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการแก้ปัญหาแบบที่เป็นเรื่องความเชื่อด้วย การดูดวง ดูอนาคต ผมว่าสิ่งนี้คือสิ่งประดิษฐ์ที่เรานำมาตอบสนองความทุกข์ที่เกิดขึ้นในชีวิต มันเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์พันลึกมากเลยครับ ดังนั้นห้องของผมก็เลยจะนำสิ่งเหล่านี้มารวมกัน คือมีทั้งเรื่องศิลปะ ดนตรีพื้นบ้าน โปงลาง สิ่งของประดิษฐ์ที่มหัศจรรย์ เรื่องความเชื่อที่มหัศจรรย์ อย่างเรื่อง พระพุทธศาสนา สัจธรรมของชีวิตที่จะนำพาไปสู่การหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง ตลอดจนความเชื่อเรื่องหมอดู และความเชื่อเรื่องวัตถุมงคล อย่าง ปลัดขิก จะถูกรวมไว้ในห้องของผม สิ่งเหล่านี้ถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยคนไทยล้วนๆ ครับ ผมตั้งใจจะทำให้ผู้ชมที่เข้ามาดูงานได้เห็นวิธีคิดที่น่าสนใจของคนไทย ซึ่งหลายๆ อย่างแม้จะเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ใช้ได้จริงครับ”
ไฮไลต์เด่นของนิทรรศการ
แน่นอนว่าพี่ป๊อดย่อมไม่ทิ้งตัวตนของเขา ที่หลงใหลในเรื่องของดนตรี พี่ป๊อดได้เล่าให้เราฟังว่า “ด้วยความที่ผมเป็นนักดนตรี ผมจึงอยากนำเสนอเนื้อหาสาระในเรื่องของดนตรี และหากจะกล่าวถึงดนตรีไทยที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ผมนึกถึงโปงลาง สัญลักษณ์คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นอันดับแรก ซึ่งเดิมทีโปงลางเครื่องดนตรีของชาวนา เป็นการตีเกราะเคาะไม้ของชาวนาที่แขวนไม้ตามเถียนนา ประโยชน์ที่แท้จริงของมันก็คือ ใช้ตีเพื่อไล่นก กาที่จะมากินข้าวในท้องนา และพอเลิกจากงานพวกเขาก็มาเคาะโปงลางเล่นกันเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ คลายความเครียดจากการทำงานไปในตัว ต้นกำเนิดของโปงลาง คือ จังหวัดกาฬสินธุ์ ผมจึงคิดว่า ควรไปหาเรื่องราวและข้อมูลที่นั่นเลย ผมจึงเดินทางไปที่บ้านของศิลปินแห่งชาติ ชื่อ ครูเปลื้อง ฉายรัศมี ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง(ดนตรีพื้นบ้าน) ประจำปี พ.ศ. 2529 ครูเปลื้องเป็นผู้ที่นำเอาเครื่องดนตรีอีสานหลายๆ ชนิดมาบรรเลงร่วมกับโปงลางจนมีชื่อเสียงแพร่หลายไปทั่วประเทศ แต่ปัจจุบัน ครูเปลื้องท่านเสียไปแล้วนะ โชคดีที่ทายาทรุ่นลูกของท่านเข้ามาสืบสานวัฒนธรรมอันดีงามนี้ไว้ ซึ่งก็คือ คุณน้าที่ผมได้ไปสัมภาษณ์พูดคุยกับเขา เขาก็ได้เล่าให้ฟังอย่างละเอียดเกี่ยวกับโปงลางว่าเริ่มมาอย่างไร ประดิษฐ์อย่างไร ต่อยอดอย่างไร แล้วผมก็ได้ไปชมการเล่นดนตรีของวงโปงลางที่เป็นเด็กรุ่นใหม่ และร่วมแจมดนตรีพื้นบ้านกับพวกเขาด้วย สนุกมากๆ ครับ”
รูปแบบการนำเสนอ
สำหรับรูปแบบการนำเสนอแนวคิดอันหลากหลายและน่าสนใจ พี่ป๊อดได้เล่าต่อว่า “เรื่องราวเกี่ยวกับโปงลางทั้งหมดที่เล่าให้ฟังนี้ ผมได้ไปเก็บข้อมูลและถ่ายทำออกมาในรูปแบบกึ่งสารคดี แล้วก็นำมาฉายในห้องนิทรรศการของผม ผมอยากให้ทุกคนได้ชม ก็เลยพยายามตัดต่อให้มันดูแล้วสนุก ด้านหน้าของห้องนิทรรศการจะมีการนำเอาเครื่องดนตรีโปงลาง ซึ่งมีหลายแบบ คือ โปงลางไม้ไผ่ โปงลางไม้หมากเลื่อม และโปงลางเหล็กมาจัดแสดงโดยที่ผู้ชมสามารถมีส่วนร่วมด้วยการทดลองตีโปงลางนี้ได้ด้วย ส่วนผนังบริเวณทางเข้าชมห้องนิทรรศการจะเป็นผนังไม้ไผ่ จักสานเป็นลวดลายสวยงาม ผมได้คัดสรรค์นำผลงานของศิลปินชื่อดัง คุณกรกต อารมณ์ดี ผู้นำภูมิปัญญาพื้นบ้านอย่างเครื่องจักสานมาสร้างสรรค์ในสไตล์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาจัดแสดงให้ทุกคนได้ชมกัน นอกจากนี้ก็จะมี ห้องหมอดู คือ ห้องที่นำเสนอ " ตำราพรหมชาติ " จะมีหมอดูจาก 9 ศาสตร์ หมุนเวียนมาดูดวงแม่นๆ ให้ผู้ที่มาชมงานในช่วง 3 เดือนที่จัดแสดง ซึ่งผมได้จำลองบรรยากาศของสำนักดูดวงเอาไว้ และอีกหนึ่งสิ่งที่ผมอยากนำเสนอคือ กระเบื้องหลังคาของห้องหมอดู จะเป็นกระเบื้องดินเผาโบราณจากเกาะยอซึ่งเก๋มาก ผลิตจากกระเบื้องจากโรงกระเบื้องโบราณแห่งสุดท้ายในประเทศไทย ณ เกาะยอ จังหวัดสงขลา เป็นกระเบื้องตีนเหยียบ ช่วยให้มีลักษณะบางและทำให้บ้านเย็น ส่วนห้องขาวที่อยู่ตรงข้ามกับห้องหมอดู พูดถึงเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา มีพระพุทธรูปประดิษฐาน และเหนือพระพุทธรูปจะการจำลองกงพัด เครื่องสรงน้ำพระ ที่ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อปล่อยน้ำให้สาดลงมายังพระพุทธรูป ตามความเชื่อของชาวไทยที่มีตั้งแต่สมัยโบราณว่าจะให้เกิดความร่มเย็นในชีวิต ห้องนิทรรศการด้านในสุดจะเป็นแท่นสีขาวๆ มีบันไดทางขึ้น เมื่อขึ้นไปจะพบกับปลัดขิก สิ่งประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นจากความเชื่อเรื่องวัตถุมงคล เครื่องรางของขลังของคนไทย”
และสำหรับใครที่อยากชมวงดนตรีโปงลางขนานแท้จากจังหวัดกาฬสินธุ์ ก็มาชมกันได้ในวันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายนนี้ เพราะภัณฑารักษ์ คือพี่ป๊อดของเราได้เชื้อเชิญวงดนตรีโปงลางมาบรรเลงสดให้ทุกคนได้ม่วนไปด้วยกันเด้อ